“ปัญหาโลกแตกที่ผู้ใหญ่ยากจะเข้าใจ (ยกเว้นผู้ใหญ่ที่เปิดกว้างจริง ๆ) ถ้าอยากให้ที่บ้านไม่บ่น เราก็ต้องแสดงให้เขาเห็นว่า การเล่นเกมของเรา ไม่ได้ส่งผลให้การเรียนหรือการทำงานเสียหาย แต่มันคือการคลายเครียด งานอดิเรก หรือความชอบ แล้วก็ลองให้เขาดู E-Sport Gaming ดูก็ได้ว่า เกมก็กลายเป็นกีฬาระดับโลกได้นะ”
- ชญานิศ นาคีรักษ์ อาชีพ Content Writer
“เกมอ่ะบางที มันก็ทำให้เราเก่งภาษา แต่ผู้ใหญ่จะคิดว่าการที่เด็กติดเกมมากเกินไป มันจะทำให้เราเรียนอะไรไม่รู้เรื่อง ไม่มีความคิด แล้วก็เหลวไหล แต่ถ้ามองลึกลงไป เกมมันก็เหมือนแหล่งเรียนรู้ที่ดี เราควรจะคัดกรองเกมในแต่ละเกมว่ามีเนื้อหาเหมาะสมไหม สำหรับเด็กบางคน เกมช่วยให้เขารู้สึกสมองปลอดโปร่งพร้อมเรียน อย่าห้ามกันดีกว่า คนที่เรียนเก่ง ๆ เล่นเกมก็เยอะ”
- ธนพร หนูหา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์
“ตอนนี้เกมอาจเป็นทุกสิ่งในชีวิตของคุณ แต่เกมไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ที่เบื่อ อยากหนีไปให้พ้น ๆ เพราะชอบเล่นจริง ๆ หรือแค่อยากเอาชนะที่บ้าน ต้องถามตัวเองนะ เพราะต่อให้ชอบเล่นเกมมากแค่ไหนแต่เรามีชีวิตที่ต้องก้าวไปข้างหน้า ถึงตอนนี้อาจจะเลิกเล่นไม่ได้เด็ดขาด แต่อย่าทำให้เกมมาทำให้ครอบครัวร้าวฉานหรือแตกคอ แล้วไม่ต้องเลือกระหว่างที่บ้านกับเกมด้วย เพราะแค่คุยกันหาตรงกลางก็แก้ปัญหาได้แล้ว”
- กัลยวรรธน์ เขม้นเขตกิจ อาชีพ Graphic Designer
“ในส่วนของลูก ถ้าที่บ้านบ่นก็ต้องคุยว่า จะให้เราเล่นได้กี่ชั่วโมงต่อวัน หรือสัปดาห์ละกี่วัน แค่นี้เลย แต่ในส่วนของพ่อแม่ ถ้าลูกบ่นว่าอยากหนีไปให้พ้น ๆ นั่นคือสัญญาณอย่างหนึ่งที่อย่ามองข้ามเพราะมันเป็นการเรียกร้องความสนใจที่รอให้พ่อแม่เข้าใจ หันหน้ามาคุยกันดีที่สุด ไม่ใช่หนีปัญหา”
- มาณิการ์ พรหมสุข อาชีพข้าราชการครู
“ผมคิดว่าทุกคนบนโลกนี้ทุกคนต้องการพื้นที่ส่วนตัวนะ ต้องการเวลาที่เราจะทำอะไรที่เราชอบ ต้องการพักผ่อนสมองจากการเรียน ซึ่งเด็กอย่างเราก็คือเล่นเกม ผมก็อยากให้พ่อแม่เข้าใจตรงนี้ด้วย ลองมาเล่นกับพวกผมก็ได้ เปลี่ยนจากบ่นมาเล่นด้วยกันก็ดี แล้วก็พูดกันดี ๆ เคลียร์กันด้วยเหตุผล บ่นไปไม่ช่วยอะไรอ่ะครับ นอกจากจะทำให้หัวเสียกันทั้งสองฝ่าย”
- สืบศักดิ์ อนันตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพประกอบ : แอมเบียน